วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

ภาวะผู้นำในอนาคต


ผู้นำในอนาคต

แนวโน้มผู้นำในอนาคต    
                ในช่วงระยะ 10 ปี แรกของการเริ่มศตวรรษที่ 21 นี้เรื่องภาวะผู้นำจะยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงที่อยู่ในความสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันบ่งชี้เกิดขึ้นหลายประการ ซึ่งจะเป็นแนวโน้มสำคัญที่คาดว่าส่งผลกระทบต่อการศึกษาและการประยุกต์ใช้ภาวะผู้นำในทศวรรษที่ 2000   ได้แก่

1. รูปแบบใหม่ขององค์การที่เกิดขึ้น (New forms of organization)
          มีรูปแบบใหม่ขององค์การที่ได้รับการพัฒนาและสร้างอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะวงการธุรกิจเชื่อในความสำคัญขององค์การในฐานะเป็นขุมกำลังอันทรงพลังที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จึงทำให้มีการเน้นเรื่องการออกแบบองค์การ (organization design) และการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการออกแบบใหม่ขององค์การ (Lawler,1996) อย่างไรก็ตามยังนับว่าอยู่ในวงจำกัดเฉพาะบริษัทธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างแบบเดิมที่มุ่งการแบ่งตามหน้าที่ภารกิจเป็นส่วนใหญ่ ส่วนองค์การประเภทอื่น ๆ ยังมีการริเริ่มเปลี่ยนแปลงดังกล่าวค่อนข้างน้อย
         บทบาทของผู้นำในองค์การรูปแบบใหม่จึงต้องเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยคาดว่าผู้นำจะต้องทำหน้าที่ทดแทนในส่วนที่องค์การขาดหายไป เช่น การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น  (hierarchy) การควบคุมแบบรวมศูนย์ (centralized control) และความเป็นทางการ (bureaucracy) เป็นต้น นอกจากนี้จากองค์การแบบเดิมที่เคยมีจำนวนผู้บริหารมาก แต่มีจำนวนผู้นำน้อยไปเป็นองค์การแบบใหม่ที่มีจำนวนผู้บริหารน้อยเท่าที่จำเป็นแต่มีจำนวนผู้นำเพิ่มมากขึ้น  ทั้งนี้เพราะองค์การแบบใหม่มีกิจกรรมและภารกิจมากมายที่ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการประสานสัมพันธ์เป็นหลัก รวมทั้งผู้นำเหล่านี้ต้องทำหน้าที่ทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปกับองค์การแบบเดิม ได้แก่ พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการกำกับการจูงใจ และการประสานงานขององค์การ เป็นต้น
       
       2. การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (Leading continuous change)
        จากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ชัดถึงบทบาทใหม่ของผู้นำ คือการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากบทบาทผู้นำเมื่อ 10  ปีก่อนที่ภาวะแวดล้อมคงที่ ทำให้ผู้นำสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ และด้านกลยุทธ์การปฏิบัติงานเป็นหลัก แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมด้านการแข่งขันเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นและแนวคิดเชิงธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ยกตัวอย่างเช่น อายุขัยของการใช้สินค้าบางอย่างสั้นลง เช่น คอมพิวเตอร์ที่ลูกค้าเคยใช้งานได้มากกว่า 5 ปี กลับลดลงเหลือเพียงประมาณ 1  ปีครึ่ง ลูกค้าก็จะเปลี่ยนแปลงเป็นรุ่นใหม่ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้นำที่ต้องสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้อง และรู้จักปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแนวโน้มดังกล่าว
        ผู้นำต้องสามารถแยกแยะ ได้ว่า สิ่งใดที่ค่อนข้างมีความถาวร และสิ่งใดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมองเห็นแนวโน้มความสัมพันธ์ของแต่ละบุคคลต่อกันที่มีต่อองค์การ ผู้นำจึงมีความสำคัญต่อประเด็นเหล่านี้ ในฐานะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนกำหนดถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว ช่วยกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางให้แก่องค์การ นอกจากนี้ผู้นำยังมีบทบาทช่วยออกแบบโครงสร้างใหม่ขององค์การให้เป็นที่ยอมรับของทุกคน การเปลี่ยนแปลงในลักษณะก้าวกระโดดเช่นนี้ ต้องอาศัยพื้นฐานของความศรัทธาและความศรัทธาที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้นำ
       
       3. การใช้ภาวะผู้นำร่วมกัน (Shared leadership)
        มีแนวโน้มที่สำคัญหลายประการในปัจจุบัน ที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ด้านภาวะผู้นำในอนาคต เช่น จากแนวคิดเรื่องผู้นำเชิงวีรบุรุษ ไปสู่รูปแบบภาวะผู้นำร่วมกัน (Shared leadership model) มากขึ้น อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าว ยังขาดการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาว่า องค์การแบบที่มีการใช้ภาวะผู้นำร่วม (Shared leadership organization) ควรมีโครงสร้างและรูปแบบอย่างไรจึงเหมาะสม
        มีหลายมุมมองที่เห็นว่า การใช้ภาวะผู้นำร่วมเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะในองค์การรูปแบบใหม่ที่ลดเลิกการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น และความเป็นระบบแบบราชการลง ทำให้ผู้นำมีบทบาทในการกำหนดทิศทางและใช้พฤติกรรมด้านการประสานงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก สำหรับผู้บริหารที่จะทำเช่นนั้นได้ทั่วถึงทั้งองค์การ ดังนั้นทางออกที่ดี ในประเด็นดังกล่าว คือ การพัฒนาผู้นำใหม่ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์การ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการพัฒนา การแปลความหมาย การนำวิสัยทัศน์ และการชี้ทิศทางลงถึงพนักงานได้ทั่วถึง ในกรณีเช่นนี้ ผู้นำแต่ละคนจึงไม่เป็นเพียงผู้ตามที่ดีของผู้นำระดับสูงเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้นำที่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจและกำหนดแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพราะต้องทำหน้าที่แทนผู้นำระดับสูงในการสร้างแรงดลใจต่อผู้ร่วมงานของตนให้ปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น


       4. ภาวะผู้นำในองค์การเสมือน (Leadership in virtual organizations)
        ในอนาคตองค์การเสมือนนับวันเพิ่มความสำคัญและเกิดแพร่หลายมากขึ้น ลักษณะโดยทั่วไปขององค์การเสมือนจะประกอบด้วยสมาชิกที่ผูกพันต่อกันชั่วคราวแบบหลวม ๆ สมาชิกทั้งหมดไม่จำเป็นต้องมาจากองค์การเดียวกันและไม่เคยมีความสัมพันธ์ยาวนานต่อกันมาก่อน การที่องค์การเสมือนมีสมาชิกที่มีแหล่งที่มาและคุณลักษณะที่หลากหลายเช่นนี้ ยิ่งต้องการผู้นำที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น  ทั้งนี้เพราะผู้นำจะเป็นเพียงกลไกเดียวเท่านั้นที่สามารถทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นให้แก่องค์การเสมือนได้ด้วยการทำหน้าที่ด้านการประสานงาน องค์การเสมือนบางแห่งสมาชิกอาจไม่มีโอกาสที่จะปฏิสัมพันธ์ต่อกันโดยตรง แบบเผชิญหน้าสองต่อสองได้ แต่ใช้การติดต่อด้วยระบบอินเทอร์เน็ตและสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ประเด็นเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อผู้นำที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญแม้จะเป็นภารกิจที่มีความยุ่งยากมากขึ้นก็ตาม ทั้งยังขาดงานวิจัยที่สามารถบ่งชี้ว่า ในสถานการณ์ขององค์การเสมือนเช่นนี้ ผู้นำสามารถใช้อิทธิพลและภาวะผู้นำได้อย่างไร ในเมื่อผู้นำไม่มีปฏิสัมพันธ์แบบสองต่อสอง และไม่มีอำนาจแบบเป็นทางการเหนือบุคคลที่ตนต้องการนำแต่อย่างใด
        อย่างไรก็ตาม ทักษะและพฤติกรรมของผู้นำที่จำเป็นและคาดว่าจะทำให้เกิดความมีประสิทธิผลสำหรับองค์การเสมือน น่าจะ   ได้แก่ ความสามารถในการสื่อสารด้วยระบบไปรษณีย์ อีเล็คทรอนิกส์ (e-mail) และการประชุมด้วยสื่อทางไกล (video conferencing) เกิดความจำเป็นต้องมี คู่มือปฏิบัติงานและบอกเป้าหมายที่เขียนแบบง่าย สั้นและกระชับมากขึ้น  ส่งผลให้ผู้นำต้องเพิ่มภารกิจด้านการปรับเปลี่ยนวิธีการที่ใช้ในการผลักดันวิสัยทัศน์ การทำแผนการปฏิบัติงานและด้านค่านิยมใหม่ขึ้น โดยยิ่งลดการติดต่อ โดยตรงแบบสองต่อสองลงมากเพียงไร  ก็ยิ่งเพิ่มความจำเป็นในการประสานงานของผู้นำมากขึ้นเพียงนั้น
       
       5. การนำทีม (Leading Teams)
        มีข้อมูลจำนวนมากที่ยืนยันว่า บริษัทขนาดใหญ่ในปัจจุบันมักจะประกอบด้วยทีมงานประเภทต่าง ๆ อยู่ภายใน โดยทีมงานแต่ละประเภทจะมีประเภทของผู้นำที่ต่างกัน มีตั้งแต่ทีมงานเฉพาะกิจเพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องขององค์การ ไปจนถึงทีมงานแบบไขว้หน้าที่ ซึ่งมีศักยภาพสูงเพื่อรับผิดชอบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าตัวใหม่       จึงเป็นทีมงานที่มีภารกิจที่มีความท้าทายค่อนข้างสูง และสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของบริษัท และพบว่าพฤติกรรมแบบหนึ่งของผู้นำที่เคยมีประสิทธิผลกับทีมงานแบบหนึ่ง อาจใช้ไม่ได้ผลในทีมงานอีกแบบหนึ่งหรืออาจมีประสิทธิผลน้อยลงก็ได้
        นอกจากนี้การมีทีมงานหลายประเภทอยู่ในองค์การเดียวกัน ทำให้คน คนหนึ่งอาจทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของทีมงานหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสมาชิกของอีกทีมงานหนึ่ง หรือหลายทีมก็ได้ กรณีเช่นนี้จำเป็นที่บุคคลนั้นจะต้องมีทักษะที่หลากหลายขึ้น เช่น ต้องมีทักษะและความสามารถในการนำทีมงานที่มีลักษณะต่างกัน ขณะเดียวกันก็ต้องมีทักษะในบทบาทการเป็นสมาชิกและผู้สร้างผลงานให้แก่ทีมงานอื่นอีกหลายทีมไปด้วย
        ทีมงานประเภทหนึ่งที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่ ทีมงานผู้นำ leadership teams) แนดเลอร์ (Nadler, 1990) ได้ทำการศึกษาถึงเงื่อนไขที่ทำให้ทีมงานผู้นำมีประสิทธิผล พบว่าในปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ส่วนมากมีแนวโน้มที่จะบริหารโดยทีมงานผู้นำ จึงเกิดประเด็นที่น่าพิจารณาขึ้นหลายประการ เช่น พนักงานจะตอบสนองต่อทีมงานแทนผู้นำเพียงคนเดียวอย่างไร  หรือแก้ปัญหาว่า ผู้นำทีมงานแต่ละคนจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันอย่างไร  จะใช้วิธีแบ่งงานที่ให้ทุกคนรับผิดชอบเหมือนกันหรือใช้การแบ่งงานเพื่อให้แต่ละคนสามารถที่จะชดเชยจุดอ่อนของผู้นำคนอื่น หรือจะร่วมกันทำงานเพื่อให้ได้ผลงานเพิ่มเป็นพิเศษมากกว่าผลงานรวมของผู้นำแต่ละคนรวมกัน (synergy) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปัญหาด้านการปรับตัวของบุคคลที่ต้องแสดงบทบาทผู้นำของทีมงานหนึ่ง แต่ต้องเป็นผู้นำถูกนำในอีกทีมงาน ผลการศึกษากล่าวว่า แม้แต่ในสังคมตะวันตกก็ตาม แนวคิดเรื่องทีมงานผู้นำยังมีการศึกษาอยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะปัญหาในการปรับตัวด้านบทบาทของบุคคล เป็นต้น  อย่างไรก็ตามแม้ว่าทีมงานผู้นำมักพบในระดับสูงสุดขององค์การ แต่มีบางผลการวิจัยเสนอแนะว่า  ทีมงานผู้นำมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มมากขึ้นทั่วทั้งองค์การ โดยทั้งองค์การอาจประกอบขึ้นด้วยทีมงานต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานโดยเฉพาะการมีทีมงานแบบไขว้หน้าที่ ซึ่งมีอำนาจการตัดสินใจต่อการปฏิบัติงานของตน (Mohrman, 1996) บางกรณีอาจมีทีมงานผู้นำในทุกระดับขององค์การ ซึ่งจะช่วยให้ทีมงานผู้นำระดับล่างมีประสิทธิผลมากขึ้น กล่าวคือ ช่วยหล่อหลอมทัศนะที่แตกต่างกันให้เกิดทางเลือกใหม่ที่ประสบความสำเร็จได้ดีกว่า ช่วยทำหน้าที่แก้ปัญหาด้านการประสานงาน เพราะได้ทราบความคืบหน้าของทีมทั้งในฐานะที่ตนเป็นผู้นำและเป็นสมาชิกทีมงาน

       6. การเน้นองค์การที่ใช้องค์ความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based organization)       
        เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบันว่า องค์การที่มีความเป็นเลิศนั้น จะต้องสามารถสร้างองค์ความรู้และมีการบริหารจัดการที่ดี ด้วยเหตุนี้องค์การจึงให้ความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว เช่นทุนทางปัญญา (intellectual capital) การประเมินศักยภาพ  การพัฒนาขีดความสามารถขององค์การ การเน้นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา  การริเริ่ม  กิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินด้านความรู้ของบริษัท เป็นต้น ประเด็นดังกล่าวเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบว่าจะต้องจัดองค์การและบทบาทที่เหมาะสมของผู้นำควรเป็นอย่างไร  แต่แน่นอนว่าจะต้องแตกต่างไปจากเดิม  อย่างน้อยจะต้องเน้นที่บุคลากรในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่สำคัญขององค์การ โดยผู้นำจำเป็นต้องมีความสามารถในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่ดีมีความรู้ความสามารถให้อยู่กับองค์การได้ยาวนาน  โดยผู้นำต้องรู้จักวางคนเหล่านี้ให้เหมาะสมกับการเป็นสินทรัพย์ทรงคุณค่าขององค์การ เพื่อให้คนเหล่านี้พึงพอใจที่จะใช้ศักยภาพสูงสุดของตนให้เกิดประโยชน์ต่อด้านภารกิจเชิงกลยุทธ์และกิจการขององค์การ  ผู้นำต้องสามารถสร้างบรรยากาศให้เกิดความท้าทายขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนจากแนวคิดเดิมที่บริหารไปตามภาระหน้าที่ทางการบริหารไปสู่การมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ใช้องค์ความรู้เป็นฐานแทน (knowledge-based problems) ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวก็คือ  การปรับปรุงรูปแบบองค์การเดิมให้เป็นองค์การที่มุ่งการใช้องค์ความรู้เป็นฐาน (knowledge-based organizations) ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมของผู้บริหารระดับสูงจะต้องแปรเปลี่ยนจากความเป็น ผู้บริหาร (managers) ไปสู่ความเป็นผู้นำ (leaders)  มากยิ่งขึ้น  ทั้งนี้เพราะกลไกและพฤติกรรมด้านบริหารจัดการตามแนวคิดเดิมไม่เอื้อต่อการสร้างและดำเนินการต่อพนักงานที่มีความรู้ซึ่งเป็นทุนทางปัญญาขององค์การได้อีกต่อไป โดยมีหลายกรณีที่พบความจริงว่า พนักงานที่มีความรู้เหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจต่องานดียิ่งกว่าผู้ที่เป็นนายของตน  ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับสมมติฐานตามแนวบริหารจัดการเดิมที่เชื่อว่า  การที่ผู้บริหารสามารถควบคุมและกำกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้นั้นเป็นเพราะ ผู้บริหารมีอำนาจมีความเข้าใจ และมีความรู้ในงานที่ทำมากกว่าพนักงานที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตน  ด้วยเหตุที่ผู้บริหารไม่สามารถทำงานเชิงปฏิบัติได้ดีกว่าผู้ใต้บังคับบัญชาดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทการบริหารจัดการของตนใหม่ ไปสู่บทบาทของผู้กำหนด  วิสัยทัศน์และพันธกิจที่สำคัญของงานโครงการ เป็นผู้กำหนดบทบาท วาระของงาน (agendas)  และอำนวยความสะดวกด้านติดต่อสื่อสาร  การให้บริการและอำนวยความสะดวกด้านทรัพยากรในการทำงานของกลุ่มอย่างเพียงพอ   ตลอดจนช่วยเป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้เกิดการประสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานกับลูกค้าและผู้สนับสนุนปัจจัย (suppliers)  ของตนได้อย่างมีประสิทธิผล
        ดังนั้นผู้บริหารที่อยู่ในสถานการณ์ของการทำงานที่ใช้ความรู้เป็นฐานเช่นนี้  จำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทลดการเป็นผู้นิเทศงานให้น้อยลง  แต่เพิ่มบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ให้มากยิ่งขึ้น  และที่สำคัญก็คือผู้บริหารต้องมีหน้าที่สำคัญในการช่วยพัฒนาความเป็นผู้นำให้แก่พนักงานของตนที่มีทั้งความรู้ความสามารถด้านสติปัญญาและความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในงานให้เจริญงอกงามขึ้น ในประเด็นเช่นนี้ผู้นำจำเป็นต้องมีความสามารถในการพัฒนาด้านพฤติกรรมมุ่งเน้นการใช้ภาวะผู้นำร่วม (shared leadership)  กับผู้ใต้บังคับบัญชาของตน
        ผู้นำในอนาคตจึงต้องไม่เป็นผู้ที่รู้สึกความเจริญงอกงามด้านภาวะผู้นำของลูกน้องคือภัยคุกคามต่อการเป็นผู้นำของตนและต้องไม่มีพฤติกรรมมุ่งการควบคุมต่อบุคคลเหล่านั้น ในทางตรงกันข้าม ผู้นำต้องกระตุ้นให้เกิดผู้นำใหม่ ๆ ขึ้น และต้องยอมรับความจริงว่า แม้ตนจะมีอำนาจตามหน้าที่ก็ตามแต่  การมุ่งใช้อำนาจตามความคิดเดิมไม่เหมาะสมต่อการทำให้งานสำเร็จอย่างมีประสิทธิผลอีกต่อไป การสร้างผู้นำใหม่จากพนักงานที่มีความรู้ความสามารถของตนพร้อมกับมอบอำนาจความรับผิดชอบในการตัดสินใจด้านการนำจึงเป็นเรื่องเหมาะสม โดยที่ผู้นำเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นผู้สนับสนุนการทำงาน  เน้นบทบาทด้านกำหนดวิสัยทัศน์พันธกิจและเป้าหมายขององค์การมากยิ่งขึ้น

7. ผู้นำในองค์การระดับนานาชาติ (Leadership in global organizations)
องค์การระดับนานาชาติ (global organization) ไม่เพียงแต่มีความยิ่งใหญ่ในแง่ขนาด แต่มี
ความสลับซับซ้อนจนยากแก่การดำเนินการยิ่งกว่าองค์การที่มีขอบเขตเฉพาะอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งมากมายนัก  โดยเฉพาะเงื่อนไขของแต่ละแห่งต่อการยอมรับ ผลิตภัณฑ์และบริการอย่างเดียวกันมีความแตกต่างกัน ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำนั้น อาจกล่าวได้ว่า การที่ผู้นำมีความรู้เทคนิคในงานและความรู้ด้านวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อความสำเร็จนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ในสถานการณ์จริงผู้นำจะต้องแสดงพฤติกรรมอย่างไร จึงจะได้รับการยอมรับจากเจ้าของประเทศที่มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นอย่างดี  ซึ่งผู้นำสามารถเลือกทำได้ทางใดทางหนึ่งใน 2 แนวทางต่อไปนี้   แนวทางแรก  ผู้นำใช้วิธีการค้นหาให้ได้ว่าพฤติกรรมใดที่มีประสิทธิผลและสามารถใช้ได้แบบสากล (universally effective  behaviors) แล้วนำไปใช้ และ แนวทางหลัง  ได้แก่ การที่ผู้นำยอมละลายพฤติกรรมของตนเพื่อให้พร้อมรับวัฒนธรรมของประเทศนั้นได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งทั้งสองแนวทางเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก  โดยเฉพาะเมื่อองค์การใช้รูปแบบบริหารแบบทีมงาน ทำอย่างไรที่จะให้ผู้นำแต่ละคนในทีมงานผู้นำที่มาจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน  สามารถแสดงพฤติกรรมของตนได้เหมาะสมเข้ากันได้ดีกับวัฒนธรรมของคนอื่น ๆ เป็นต้น
        ผลกระทบของโลกาภิวัตน์  ทำให้องค์การจำเป็นต้องได้ผู้นำที่มีความสามารถในด้านการนำต่างวัฒนธรรม (cross  culture)  ได้ดี  การพัฒนาผู้นำระดับอาวุโสขององค์การระดับนานาชาติจึงต้องให้ความสำคัญของผู้นำที่มิใช่เพื่อการเป็นประชากรของเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาวิจัยด้านภาวะผู้นำกล่าวถึงทักษะและพฤติกรรมที่เหมาะสมของผู้นำระดับนานาชาติ (global   leadership)  ค่อนข้างน้อยและยังขาดความชัดเจน  แต่เป็นที่คาดหมายว่า  ประสบการณ์ที่ผู้นำสะสมจากการได้อาศัยอยู่ในหลาย ๆ ประเทศเป็นเวลายาวนานในฐานะเป็นผู้นำ  จะมีส่วนสำคัญต่อผู้นำคนนั้นเมื่อมารับตำแหน่งผู้นำองค์การระดับ  นานาชาติให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น (McCall, 1998)
        จากแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่  20  ทั้ง  7  ประเด็นดังกล่าวจะยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องไปในอนาคตช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21  โดยแนวโน้มด้านภาวะผู้นำในอนาคต  ที่คาดหมายสามารถสรุปได้ในตาราง 4.1  กระแสการเปลี่ยนแปลงในองค์การและภาวะผู้นำในอนาคต ดังนี้
ตาราง  4.1  กระแสการเปลี่ยนแปลงในองค์การและบทบาทของผู้นำในอนาคต
ประเด็นที่เปลี่ยนแปลง
ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงขององค์การและผู้นำ
- ด้านโครงสร้าง (structure) 


- องค์ประกอบของ 
  ประชากร (demographic)


-  กระแสโลกาภิวัตน์
   (globalization)



-  องค์การแบบแนวราบ  รูปแบบโครงสร้างใหม่ และเน้นการใช้
   ทีมงาน
- ผู้นำต้องปรับบทบาทใหม่  เน้นที่ผู้ตามและผู้มีส่วนได้เสีย
- มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น  ช่องว่างระหว่าง
  พนักงาน สูงอายุกับพนักงานรุ่นใหม่มีมากขึ้น
- ผู้นำต้องมีความเข้าใจถึงความแตกต่างและองค์ประกอบทาง
  วัฒนธรรม
- เผชิญกับลักษณะข้ามวัฒนธรรม (cross-culture) มากขึ้น  มีทีมงาน
  ข้ามชาติและผู้นำข้ามชาติมากขึ้น
- ผู้นำต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมต่างชาติและมีความเป็น
  นานาชาติมากขึ้น  ต้องสนใจจับติดกระแสโลก (global issues)  อยู่
  เสมอ
ประเด็นที่เปลี่ยนแปลง
ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงขององค์การและผู้นำ
-  จริยธรรมใหม่ของการ
    ทำงาน (new work  ethic)


-  การเรียนรู้และองค์ความรู้
   (learning and knowledge)


-  เทคโนโลยีและการเข้าถึงสารสนเทศ (technology and access to information)



-  เน้นเรื่องความยืดหยุ่น (emphasis on flexibility)


- การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (fast-paced change)



- ความภักดีต่อองค์การลดลง  มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการ
  ทำงานมากขึ้น
- ผู้นำต้องสามารถประสานวิธีการทำงานกับความแตกต่างด้าน
  วัยวุฒิของกลุ่มบุคลากรให้ผสมกลมกลืนได้มากขึ้น
- บุคลากรที่ทำงานเป็นผู้มีความรู้สูงขึ้น  องค์การเปลี่ยนเป็นองค์การ
  แห่งการเรียนรู้ (learning organization)
- ผู้นำต้องพัฒนาความสามารถตนเองในการนำผู้ร่วมงานที่ทรง
  ความรู้
- เทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นรวดเร็ว สารสนเทศเพิ่มปริมาณขึ้น อัตรา
  ความเร็วในการเคลื่อนที่ของสารสนเทศสูงมาก เกิดวิธีใหม่ ๆ ที่มี 
  ประสิทธิภาพในการเข้าถึงและการใช้สารสนเทศร่วมกัน
- ผู้นำต้องก้าวทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ  แหล่งที่มาของอำนาจจะ
  เปลี่ยนไป มีการบูรณาการเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่ม
  ประสิทธิผลของผู้นำ
- โครงสร้างองค์การที่ยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับตัวได้รวดเร็ว ความ
   ยืดหยุ่นส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น
- ผู้นำจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการบริหารการเปลี่ยนแปลง (manage
  change)
- เกิดภาวะไม่แน่นอนขึ้นทั้งภายในและภายนอกองค์การอัน  
  เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
- ผู้นำต้องสามารถติดตามและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน
  ปัจจุบันและสามารถคาดการณ์ต่อไปในอนาคตได้อย่างแม่นยำ


        ภาวะผู้นำตามแนวความคิดเดิม คือ การใช้คำสั่งและการกำกับควบคุม แนวคิดเช่นนี้ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิผลได้อีกต่อไปในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม และองค์การที่ปรับเปลี่ยนไปทั่วโลกมีแนวโน้มในอนาคตที่มุ่งเน้นให้องค์การมีความสามารถในการยืดหยุ่นมากขึ้น  แต่ยังคงความมีประสิทธิภาพสูงอยู่นั้น ทำให้ผู้บริหารระดับสูงยากที่จะใช้แนวทางบริหารแบบเดิมให้ประสบความสำเร็จเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป  ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ มีผลกระทบต่อองค์การและผู้นำที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเชิงกระบวนทัศน์ขึ้นใหม่ที่สามารถที่จะเผชิญต่อภาวะแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต  ได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงคาดว่า
        ผู้นำในอนาคตจะต้องยอมรับแนวคิดที่ต้องให้บริการ (service  mentality)  ต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์การ  โดยเริ่มก่อนที่พฤติกรรมของผู้นำที่แสดงเจตคติบริการแก่ลูกน้องของตนเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนเหล่านี้  ได้เรียนรู้และเกิดจิตสำนึกการให้บริการแก่บุคคลอื่น และผู้มีส่วนได้เสียภายนอกอีกทอดหนึ่ง  ผู้นำจึงจำเป็นต้องเลิกทัศนะการเป็นนาย (powerful  bosses)  ของตนลงในการยึดแนวคิดการมีน้ำใจบริการนั้น ผู้นำจำเป็นต้องเน้นค่านิยมด้านการมีความสัตย์ซื่อถือคุณธรรมยึดมั่นหลักการ (integrity  and  honesty)  ต่อผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าว  เป็นสำคัญ
        ผู้นำในอนาคตจะต้องมีมุมมองที่กว้างไกลระดับโลก (global  perspective)  จะต้องชาญฉลาดและเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อปัจจัยทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุที่จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลที่หลากหลายวัฒนธรรมมีความแตกต่างของผู้ปฏิบัติงานในองค์การ และผู้เกี่ยวข้องกับองค์การเพิ่มมากขึ้นตามกระแสโลกาภิวัตน์ผู้นำจำเป็นต้องมีความสามารถในการเข้าใจและสามารถปฏิสัมพันธ์กับคนต่างวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสมรู้จักละเว้นการแสดงเจตคติแบบการลงความเห็นตัดสินใด ๆ หรือการใช้คำพูดเชิงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่น แต่ใช้การติดต่อ  เรียนรู้โดยตรงด้วยมุมมองที่ดีต่อผู้อื่นเสมอ
        ผู้นำในอนาคต จะต้องเข้าใจองค์การรูปแบบใหม่จากมุมมองที่เป็นองค์รวมเพื่อให้การปฏิบัติงานหน้าที่ของทุกกลไกในองค์การมีลักษณะของการบูรณาการ  ผู้นำต้องมีความสามารถและทักษะการทำงานแบบทีมงานได้ดี  จะต้องมีทักษะเชิงกลยุทธ์ในงานที่เป็นส่วนต่าง ๆ ขององค์การได้ดีจนประสานสัมพันธ์เกิดเป็นองค์รวมขึ้น
        ผู้นำในอนาคต จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสูง  สามารถเปิดกว้างเพื่อรองรับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นได้ดี ต้องมีความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลง (manage change) ผู้นำในศตวรรษที่ 21  ต้องชอบต่อความท้าทายและการทดลองใหม่ ๆ รู้จักลดข้อจำกัดของตนและองค์การให้น้อยลง  และมีความกล้าเสี่ยงอย่างรอบคอบในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับด้านวิสัยทัศน์มากขึ้น
        ผู้นำในอนาคต จะต้องผูกพันต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  จะต้องหมั่นพัฒนาฝึกอบรมและหาประสบการณ์ใหม่  เพื่อคงความมีทักษะ  ความรู้ความเข้าใจในการนำองค์การแห่งการเรียนรู้ของตนให้สามารถก้าวทันกระแสโลก ผู้นำจำเป็นต้องมีทักษะ เช่น ทักษะในการเรียนรู้  และการทำความเข้าใจเชิงมโนทัศน์ด้วยตนเอง  ทักษะด้านการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ความสามารถในการบริหารและการทำงานแบบทีม  การบริหารความขัดแย้งและเทคนิคการเจรจาต่อรอง  ความสามารถก้าวทันเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ๆ รวมทั้งการมีความรู้ความเข้าใจต่อพฤติกรรมเชิงการเมือง เป็นต้น
        ผู้นำในอนาคต  จำเป็นต้องมีความสามารถสร้างความสมดุลได้ดีระหว่างงานในตำแหน่งหน้าที่ผู้นำ กับด้านชีวิตส่วนตัว รวมทั้งการสร้างความงอกงามด้านความรู้สมัยใหม่ที่เกี่ยวกับวิชาชีพของตน

        การบริหารจัดการไม่ว่าจะเกี่ยวกับภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องในการเป็นองค์ประกอบในการบริหารจัดการให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้  
ปัจจัยที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้นำหรือผู้บริหารงานซึ่งเป็นส่วนที่เปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการในการวางแผนและสั่งงานคล้ายกับสมองของคน
ดังนั้น ผู้บริหารหรือผู้นำจะต้องมีลักษณะหรือภาวะผู้นำที่เป็นคุณลักษณะพิเศษ  ซึ่งจะต้องมีทั้งความรู้    ประสบการณ์ และมีจริยธรรม รวมทั้งมีความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างไปจากบุคคลอื่น ๆ ซึ่งเรียนกันโดยทั่วไปว่าเป็นมืออาชีพ
สำหรับการพิจารณาลักษณะของผู้นำนั้นมีแนวคิดอยู่มากมาย ทั้งในด้านโหราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เช่นการดูรูปลักษณะทางกายภาพนอกหรือที่เรียกว่าดูโหงวเฮ้ง  หรือการดูจากพฤติกรรมและบุคลิกท่าทางรวมทั้งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ  ประกอบกับการปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ ด้วย  ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะต้องนำมาพิจารณากันในหลาย ๆ ด้าน

ทั้งนี้จะขอกล่าวลักษณะของผู้นำในอดีตและปัจจุบัน  รวมทั้งในอนาคตโดยอาศัยแนวคิดต่าง ๆ มาผสมผสานให้เป็นข้อสังเกตที่ควรจะนำไปพิจารณาดังต่อไปนี้
1. ลักษณะของผู้นำในอดีต  มีแนวคิดดั้งเดิมในสมัยโสโครติส เพลโต  โดยให้ความคิดว่าผู้นำหรือผู้ปกครองควรมีลักษณะเป็นแบบราชาปราชญ์หรือผู้นำในอุดมคติ  ควรจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นผู้ปกครองที่เป็นปราชญ์ คือ มีความฉลาดและมีปฏิภาณไหวพริบดี  ซึ่งทำให้ผู้นำมีความคิดมีปัญญาที่จะบริหารบ้านเมืองได้สำเร็จ
(2) ผู้นำจะต้องไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง คือ ผู้นำจะต้องไม่คิดที่จะหาประโยชน์เพื่อตน ควรคิดแต่ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
(3) ผู้นำจะต้องเสียสละ โดยจะต้องสละทั้งเวลา รวมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่ออุทิศต่อการบำเพ็ญประโยชน์ในส่วนรวมให้ประชาชนมีความสุขมากที่สุด
(4) ผู้นำจะต้องไม่มีภริยา เพื่อผู้นำจะได้ไม่คิดห่วงใย  และมีทรัพย์สินไว้สำหรับสืบทอดให้ทายาท
(5) ผู้ปกครองหรือผู้นำจะต้องมีคุณธรรมในการควบคุมตัวเองและในความกล้าหาญ รวมทั้งคุณธรรมในการให้ความยุติธรรมต่อผู้อื่นด้วย
ซึ่งแนวคิดของโสเครติสและเพลโตเป็นแนวคิดที่ในทางปฏิบัติอาจทำได้เพียงบางประการเท่านั้น แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันและในอนาคตได้ดีและเหมาะสมกับยุคสมัยในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นได้

2.  ผู้นำในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันเป็นยุกต์โลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารครอบงำไปทั่ว เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้โลกเล็กลงได้  ดังนั้น การติดต่อสื่อสารกันสามารถทำได้รวดเร็วเปรียบเสมือนโลกไร้พรมแดน และผู้นำในปัจจุบันจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัย ดังนั้น ผู้นำในปัจจุบันควรจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ผู้นำควรจะต้องมีลักษณะเป็นคนคิดเก่ง ทำเก่ง  โดยจะต้องเป็นคนขยันคิดไม่อยู่เฉย
(2) ลักษณะของผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์  คือ จะต้องมีความคิดเห็นที่มองไปยังอนาคตเพื่อกำหนดเป้าหมายในสิ่งที่คาดหวังไว้
(3) ผู้นำในปัจจุบันจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คือ คิดในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่ดี ไม่มองโลกในแง่ร้าย จะต้องเลือกทำในสิ่งที่ถูก  มีทางเลือกหลาย ๆ ทาง ไม่คิดถอยหลังเข้าคลอง  หรือมีลักษณะเป็นคนหัวเก่า หรือ Conservative
(4) ผู้นำจะต้องมีลักษณะเป็นคนยอมรับในสิ่งเปลี่ยนแปลง หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้
(5) ผู้นำจะต้องมีลักษณะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง (Change Agen)

เมื่อพิจารณาลักษณะของผู้นำในปัจจุบันแล้วเห็นว่า ทุกองค์กรโดยเฉพาะภาคธุรกิจได้แนวคิดเรื่องการจัดการบริหารแนวใหม่ (NPA)  มาใช้เพื่อให้องค์กรในภาคเอกชนปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยกับยุคโลกาภิวัตน์
และนอกจากนี้ในภาครัฐบาลก็ยังมีการปฏิรูประบบราชการเพื่อปรับเปลี่ยนให้องค์กรในภาครัฐมีลักษณะสอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์โดยมีการปรับเปลี่ยนในด้านโครงสร้างหรือในด้านบุคลากรเกี่ยวกับแนวคิดและแนวปฏิบัติใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะของผู้นำและแนวปฏิบัติใหม่ในปัจจุบัน ก็ยังปรับเปลี่ยนไม่ทันกับความเจริญก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก

3. ผู้นำในอนาคต
ผู้นำในทศวรรษหน้าไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐควรจะต้องปรับเปลี่ยนลักษณะของผู้นำให้มีภาวะผู้นอสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว  เพื่อรองรับในการบริหารจัดการให้ทันท่วงที โดยผู้เขียนใคร่ขอเสนอว่า  การเลือกผู้นำในทศวรรษหน้าควรจะต้องพิจารณาในสิ่งต่าง ๆ ประกอบกันหลาย ๆ อย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะคุณสมบัติของผู้นำ  พฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ ประสบการณ์ จริยธรรม หรือในด้านอื่น ๆ มาผสมผสานประกอบกันด้วยเพื่อให้ได้ผู้นำที่มีความพร้อมมากที่สุดอันจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป ดังนี้
(1)        ผู้นำควรจะต้องมีทศพิธราชธรรมประจำใจ
(2)        ผู้นำควรจะต้องมีความรู้ มีปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
(3)        ผู้นำควรจะต้องทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
(4)        ผู้นำควรจะต้องขยันคิด  ขยันทำ  มีความทะเยอทะยาน  และมีความกระตือรือร้นตลอดเวลา
(5)        ผู้นำจะต้องเสียสละให้ประโยชน์ส่วนรวมและไม่ยึดประโยชน์เอามาเป็นของตนและพวกพ้อง
(6)        ผู้นำจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความยุติธรรม  มีเหตุมีผล  ไม่หลงอำนาจ  กระทำด้วยความชอบธรรม ไม่ทำตามอำเภอใจ
(7)        ผู้นำจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ยอมรับในนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
(8)        ผู้นำจะต้องมีความโปร่งใสและมีความเสมอภาคต่อทุกคน
(9)        ผู้นำจะต้องมีการติดต่อสื่อสาร ประสานงานกับประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องสมานฉันท์กัน
(10)     ผู้นำควรจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีกลยุทธ์ในการวางแผนล่วงหน้าเสมอ  และจะต้องรู้เขารู้เราด้วย
(11)     ผู้นำไม่ควรมีธุรกิจเป็นของตนเอง หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับธุรกิจของพวกพ้องตนเอง
(12)     ผู้นำควรจะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง  และมีความยืดหยุ่นเห็นใจผู้อื่น
(13)     ผู้นำควรจะต้องมีความอดทนและกล้าหาญ  รวมทั้งมีความรับผิดชอบ
(14)     ผู้นำควรจะต้องมีบุคลิกภาพสง่างาม  และมีจิตใจโอบอ้อมอารี เมตตาธรรม
(15)     ผู้นำควรมีทักษะในหลาย ๆ ด้าน และทำงานติดต่อสื่อสารกันเป็นทีม

ภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคต
สถานการณ์ ภาวการณ์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท ของสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง
สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี  ฯลฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องบริหารแบบรู้เท่าทัน ทันการณ์ มีวิสัยทัศน์ โดยใช้พื้นฐานความรู้เดิมเป็นตัวตั้ง  แล้วนำมาวิเคราะห์เรียบเรียง  เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ แล้วจัดการกำจัดจุดอ่อน  และเพิ่มจุดแข็งให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการที่ผู้นำหรือที่มีภาวะผู้นำ เป็นผู้ที่ชักนำ จูงใจ ชี้นำ ใช้อิทธิพล หรืออำนาจที่มีอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้หรือกระตุ้นให้หรือชี้นำให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาให้ยินดี เต็มใจ พร้อมใจ ยินดีในการกระทำการ  ให้มีความกระตือรือร้นหรือร่วมดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ผู้นำต้องการให้มีพฤติกรรมไปในทิศทางที่เขาชักนำในการทำงานหรือดำเนินกิจกรรมที่ผู้นำนั้นรับผิดชอบ หรือตามที่ผู้นำนั้นต้องการ การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา  ไม่อาจแยกจากกันได้เด็ดขาดว่าเป็นยุคอดีต  ยุคปัจจุบัน และยุคอนาคต  แต่จะมีลักษณะที่คาบเกี่ยวและมีความสัมพันธ์ต่อกันเสมือนอยู่บนเส้นตรงเดียวกัน  กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เราคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตก็เช่นกัน ก็อาจมีกระแสหลักอยู่หลายประเด็นที่ได้เกิดมาในอดีต  แล้วดำเนินสืบต่อมาในปัจจุบันและอาจต่อเนื่องต่อไปในอนาคตก็ได้  หรืออาจเป็นกระแสหลักที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตเลยก็ได้ ดังนั้น ผู้นำในโรงเรียนในอนาคต ควรผู้บริหารที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพการศึกษา

        ผู้บริหารในอนาคตจึงต้องมีคุณสมบัติที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพการศึกษา และจัดการบริหารสถานศึกษาให้เป็น องค์การแห่งการเรียนรู้ (learning organization)  อย่างแท้จริง ผู้บริหารในอนาคตจะต้องมีศักยภาพดังต่อไปนี้

        1.  ผู้บริหารต้องมีความสามารถรับรู้  เข้าใจ และตีความต่อสัญญาณบอกเหตุใด ๆ ที่จะเข้ามาจากสิ่งแวดล้อม ภายนอกได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง  มีความยืดหยุ่นและสามารถสนองตอบต่อสัญญาณบอกเหตุดังกล่าว ด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้ดี เช่น ปรับตัวด้านโครงสร้าง ปรับหลักสูตร  ปรับกระบวนการเรียนการสอน    ปรับกระบวนการบริหารจัดการใหม่ที่มีความสอดคล้องเหมาะสม เป็นต้น สามารถที่จะมีอิทธิพลทั้งเชิงรุก และเชิงรับ ต่อชุมชน/สังคม โดยเฉพาะต่อแนวคิดและค่านิยมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกาภิวัตน์

        2. ผู้บริหารจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรที่ก่อให้เกิดความร่วมมือและมีความยืดหยุ่นคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นโครงสร้างแบบแนวนอน  มากกว่า และยิ่งถ้าโรงเรียนต้องการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ดีในอนาคตด้วยแล้ว ก็จะเป็นที่จะต้องสลายพรมแดนระหว่างหน่วยงานย่อยต่างๆ ภายในให้เหลือน้อยที่สุดต้องลดการควบคุม (control)  แต่เพิ่มการประสานสัมพันธ์  ให้มากขึ้น  ยึดความยืดหยุ่นคล่องตัวเพื่อให้เกิดการบริหารที่มุ่งเป้าหมายของงานมากกว่าเพื่อการบริหารระเบียบกฎเกณฑ์แบบราชการ ซึ่งเป็นระบบที่ตึงตัวที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการสถาบันทางวิชาการ

        3.  ผู้บริหารต้องมีภาวะผู้นำที่ดี  โดยต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ควบคุมงาน (controller)  หรือผู้คุมกฎ (gatekeeper)  ไปสู่บทบาทใหม่ในฐานะ ผู้สนับสนุนหรือผู้เอื้ออำนวยด้านสารสนเทศ มากขึ้น เป็นผู้นำการพัฒนาศักยภาพของครูและเป็นผู้ใช้วิธีการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้แก่ผู้ร่วมงาน ด้วยเหตุนี้แนวคิดเดิมที่ถือว่าการบริหารหน่วยงานจะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ โดยผู้นำเพียงคนเดียวหรือ Single leader เท่านั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาเป็น การกระจายภาวะผู้นำ  ให้แก่ผู้ร่วมงานในระดับต่าง ๆ ได้มีโอกาสเป็นผู้นำที่ได้รับการมอบอำนาจความรับผิดชอบการตัดสินใจในขอบเขตงานของตนได้ด้วยตนเองมากขึ้น
       
        4.  ผู้บริหารต้องปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการ โดยยึดหลักการให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกัน เช่น ความเชื่อมโยงการทำงานของครูแต่ละคน ให้กลายเป็นทีม ความเชื่อมโยงระหว่างทีมงานกับทีมงาน ระหว่างแผนกงานกับแผนกงาน และระหว่างโรงเรียนกับชุมชนภายนอก เป็นต้น

        5.  ผู้บริหารต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตร (strategic networks)  กับสถานศึกษาอื่น  ตลอดจนกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน  เพื่อประโยชน์ของความร่วมมือ การใช้ทรัพยากรร่วม และการเพิ่มความแข็งแกร่งทางวิชาการ การสร้างผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้  รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

        6.  ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียกับโรงเรียน เช่น ผู้ปกครองและชุมชนที่ต้องการเข้าไปมีบทบาทต่อการดำเนินงาน และการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

        7.  ผู้บริหารจะต้องแสดงบทบาทการเป็นผู้นำที่สำคัญของสังคมแห่งความรู้
(knowledgesociety)  โดยต้องใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าชั้นสูงเป็นเครื่องมือดำเนินการไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว ตลอดจนใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ได้ตามความคาดหวังของสังคม
        8.  ผู้บริหารต้องพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้หลากหลายและทันสมัยเรียกว่า  การเรียนรู้แบบไร้พรมแดน โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ซึ่งอาจเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน ศูนย์การค้า  รวมทั้งที่โรงเรียนเองก็ได้ กล่าวโดยสรุปต่อไปนี้ จะมีแหล่งความรู้ที่มีขนาดใหญ่มหึมา  มีข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัยให้เลือกได้ตามที่ต้องการอย่างหลากหลายมากมาย และมีความน่าสนใจ ตลอดจนทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และสารสนเทศเหล่านั้นได้ดีกว่าการเรียนแบบเดิมในห้องเรียน  ปรากฎการณ์ดังกล่าว จะบีบบังคับให้ครูต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิผล
       
        9.  ผู้บริหารต้องจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของโรงเรียนและชุมชุน ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน  มิฉะนั้นสิ่งที่เรียน/ที่สอนอยู่ในโรงเรียนนับวันจะล้าสมัยห่างไกลจากความเป็นจริงยิ่งขึ้น จนไม่สามารถสร้างผลผลิตจากการศึกษาให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของผู้ใช้ผลผลิตของโรงเรียนได้  หน้าที่สำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐานมิอาจจำกัดเพียงแค่การให้สาระความรู้ที่จำเป็นแก่ผู้เรียนเท่านั้น  แต่สิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ก็คือ การทำให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิต  ที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในโลกสมัยใหม่ได้อย่างชาญฉลาดและอย่างมีความสุข การรู้เท่าทันโลก การรู้จักทางเลือก การรู้จักแก้ปัญหา  การได้รับการพัฒนาทักษะและนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างไม่ยอมจบสิ้น (life-long learner)

        10. ผู้บริหารจะต้องมีกระบวนการพัฒนาบุคลากรให้เป็นครูมืออาชีพ (professionalism) มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นให้ครูมีความเป็นนักจัดการเรียนรู้ (learning managers)  ฝีมือดี ที่มีเจตคติแห่งความเป็นครูสูง มีความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติวิชาชีพที่ทันสมัยอยู่ในระดับสูง

        11. ผู้บริหารต้องให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของครูในทุกเรื่องและในทุกบริบท  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือทำกันเป็นทีมเสมือนคณะแพทย์ที่ทำการผ่าตัดคนไข้  ด้วยเหตุนี้ครูจึงต้องได้รับการพัฒนาด้านการทำงานแบบทีม  รวมทั้งพัฒนาความฉลาดรู้ทางอารมณ์ (EQ)  อีกด้วย

        12.  ผู้บริหารจะต้องสร้างและมีวัฒนธรรมการทำงานที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ (collaborative)  มากกว่าการเน้นเรื่อง การแข่งขัน(competitive)  ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทุกด้านของนักเรียน ครู และบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน  ตลอดจนชุมชนภายนอก  เพราะความร่วมมือร่วมใจกันจะก่อให้เกิดความมีพลังเพิ่มที่มากกว่าปกติ  ที่เรียกว่า Synergy  ขึ้น ซึ่งทำให้งานสำเร็จได้ง่าย  รวดเร็วขึ้นและได้ปริมาณงานออกมามากขึ้นกว่าเดิม  ที่สำคัญคือ จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศของการมี สามัคคีธรรม ให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน

        องค์กรหรือสถานศึกษาที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม หัวใจสำคัญก็คือ ผู้นำหรือผู้บริหารสถานศึกษาที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการบริหารจัดการเกิดการขับเคลื่อน ซึ่งประกอบไปด้วยคน งบประมาณและการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้นำหรือผู้บริหารสถานศึกษาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายต่อองค์กรเพื่อตอบสนอง นโยบาย หลักสูตร และความคาดหวังของสังคมได้ตามความคาดหวังหรือไม่  ยังเป็นคำถามดังก้องมาหลายทศวรรษ  และยังต้องตามหาคำตอบกันต่อไป  ดังคำกล่าวที่ว่า การปลูกพืชจะเจริญงอกงามต้องเห็นเงาของผู้ปลูกฉันใด  โรงเรียนจะมีคุณภาพต้องเห็นเงาผู้บริหารฉันนั้น

        จากแนวคิดของ รศ.ดร.อุทัย บุญประเสริฐ ได้สรุปสาระสำคัญของภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคต ไว้ดังนี้
        ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการที่ผู้นำหรือผู้ที่มีภาวะผู้นำ เป็นผู้ที่ชักนำ จูงใจ ชี้นำ  ใช้อิทธิพลหรืออำนาจที่มีอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้หรือกระตุ้นให้หรือชี้นำให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาให้ยินดี เต็มใจ พร้อมใจยินดีในการกระทำการ ให้มีความกระตือรือร้นหรือร่วมดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ผู้นำต้องการหรือตามที่ผู้นำต้องการให้มีพฤติกรรมไปในทิศทางที่เขาชักนำในการทำงานหรือดำเนินกิจกรรมที่ผู้นำนั้นรับผิดชอบหรือตามที่ผู้นำนั้นต้องการ  ซึ่งสิ่งที่ผู้นำในโรงเรียนในอนาคตควรมี เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาภาวะผู้นำ  อย่างน้อยน่าจะประกอบด้วยสิ่งสำคัญเหล่านี้
1)  ความสามารถเชิงวิสัยทัศน์  การวางแผนและการกำหนดเป้าหมายขององค์การ
2)  ความสามารถในการทำงานแบบมีส่วนร่วม
3)  ความสามารถในการสื่อสารแบบมีประสิทธิผล
4)  ความสามารถในการสร้างทีมงาน
5)  ความสามารถในการดำเนินกระบวนการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม
6)  ความสามารถในการจัดการกับปัญญา
7)  ความสามารถในเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงองค์การ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น